ประสิทธิผลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมการพัฒนา: มุมมองของประชาชน
The Effectiveness of Local Government in Promoting
Development: People’s View
Peerasit Kamnuansilpa
Supawatanakorn Wongthanavasu
บทคัดย่อ
รายงานการศึกษานี้มุ่งที่จะเสนอความคิดเห็นและมุมมองของผู้นำท้องถิ่นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสิทธิผลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่น โดยให้ความสนใจเฉพาะเรื่องของการพัฒนาทางด้านสาธารณสุข การศึกษา และเศรษฐกิจ ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษานี้เก็บรวบรวมมาจากงานสนามที่ได้ดำเนินการใน 4 จังหวัด อันได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ขอนแก่น และสงขลา การเก็บข้อมูลได้ใช้วิธีการประชุมกลุ่มแบบ Focus Group โดยในแต่ละจังหวัดได้ดำเนินการในตัวอย่างของเทศบาลทั้ง 3 ขนาด และในองค์การบริหารส่วนตำบล 2 แห่ง ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 3 ขนาด เห็นด้วยกับแนวทางการบริหาร การสาธารณสุข และการศึกษา ตามแนวทางของการกระจายอำนาจ อย่างไรก็ตามแม้ว่ากระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงศึกษาจะไม่ได้กระจายอำนาจ และความรับผิดชอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่ศึกษาในครั้งนี้ล้วนแล้วแต่ให้การสนับสนุนทางด้านงบประมาณเพื่อการสาธารณสุข และการศึกษาอย่างเต็มที่ ในเชิงเปรียบเทียบเราพบว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแบบไม่มีบทบาทอะไรมากนักในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ ผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้มองว่าการพัฒนาเศรษฐกิจเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เราเชื่อว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะประเทศไทยยังไม่ได้มีการบริหารประเทศตามแนวทางและนโยบายการกระจายอำนาจอย่างเต็มที่ ผลจึงทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขาดความริเริ่มและมองว่า การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นภาระและหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของส่วนกลาง มิใช่ของท้องถิ่น
Abstract
This study was designed to discover the opinions of local leaders on the views and perceptions of people regarding the effectiveness of local governments in promoting development at the local level. This paper focuses on development in three sectors; health, education, and economic. The study was carried out in four provinces; Chiangmai, Chon Buri, Khon Kaen and Songkla. In each province focus group discussions took place in the three levels of Municipalities and two Tambon Administrative Offices. This study found that the selected local government units surveyed were supportive of decentralized management of health and education programs. Even though the central government does not delegate full authority in health and education management to the lower units, the local governments use their own budgets to provide assistance to health and education programs. However, they take virtually no action in economic development. The leaders of local government do not consider this their responsibility. We believe the highly centralized administrative system undermines local initiative and limits what local government can do.
Keywords: economic development, local government, health care, education
"